วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เป็นการสนับสนุนอีกทางหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

นักวิชาการชี้ถึงเวลายกเครื่อง พ.ร.บ.การศึกษา เพราะโลกเปลี่ยนไปแต่การศึกษายังตามไม่ทัน การกระจายโอกาสทางการศึกษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของสังคม เสนอยุบ สมศ.เพราะเพิ่มภาระครูกับโรงเรียนมาก


วันนี้ ( 22 พ.ย.) ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในการประชุมเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 : ถึงเวลาแก้ไขได้หรือยัง” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่าที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วต้องแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 อีกครั้ง เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก แต่การศึกษาไทยยังตามไม่ทัน นอกจากนี้เห็นว่าการปฏิบัติกันมาตามกฏหมายดังกล่าวก็ยังไม่ได้ผลหลายเรื่องขณะที่บางเรื่องควรยกเลิกได้บ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการประเมินการศึกษา โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ. ) ที่เริ่มมานานและน่าจะเลิกได้แล้วเพราะเป็นภาระกับโรงเรียนและครูมาก แต่ควรให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนประเมินให้มากขึ้น และควรเป็นเวลาของการนำผลประเมินไปปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น

ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นว่าเป้าหมายของการศึกษาตาม พ.ร.บ.ที่เน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพและการกระจายโอกาสยังไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง จากผลการประเมิน คุณภาพของการศึกษากลุ่มต่างๆยังด้อยอยู่ มีปัญหาประสิทธิภาพมากโดยที่การศึกษาใช้เงินมากแต่ได้ผลน้อย และการกระจายโอกาสยังไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นก็เดินไปได้ช้ามาก ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นมีความพร้อมขึ้นมากแล้ว ส่วนเรื่องของครูแม้จะมี พ.ร.บ. เกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 2 ฉบับแต่วิชาชีพครูก็ไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดหวังซ้ำยังมีปัญหาใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก เช่นการแต่งตั้งโยกย้ายครู การเลื่อนวิทยฐานะ เป็นต้น ส่วนของอุดมศึกษาเองแม้ พ.ร.บ. จะกล่าวไว้เพียงเล็กน้อยว่าให้มหาวิทยาลัยมีอิสระแต่กลับเป็นปัญหามากเช่นกัน เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรกันอย่างกว้างขวาง และขาดการดูแลคุณภาพอย่างจริงจัง

"ที่ประชุมยังเห็นว่าปัญหาใหญ่ของการศึกษาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีศึกษาบ่อยเกินไปทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่นานขึ้นหน่อย และควรหันมาสนใจการศึกษาอย่างจริงจัง และยังเสนอว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมาเริ่มประเมิน พ.ร.บ.ศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กันอย่างลึกซึ้ง จริงจัง และรอบด้านมากขึ้นและวางแนวทางเพื่อแก้ไขกันอย่างจริงจังด้วย” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว