วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของการศึกษา

ครม.เห็นชอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)
รมว.ศธ.เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ ได้เห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)
ศึกษาธิการ - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) และเห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ สาระสำคัญของข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) วิสัยทัศน์ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป้าหมาย ภายในปี ๒๕๖๑ มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลักสามประการ คือ
๑) คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่งดีและมีใจรักมาเป็นครูคณาจารย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
๒) เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย
กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา มีการปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดย
๑) พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
๒) พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู
๓) พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ/ประเภทให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและพัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย
๔) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วน มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล
ข้อเสนอกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาตามข้อเสนอดังกล่าวบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงเสนอให้มีกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
๑) คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ให้มีคณะกรรมการ ๒ คณะเพื่อดำเนินการทางนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มี รมว.ศธ.เป็นประธานฯ ให้คณะกรรมการทั้ง ๒ คณะ มีกรอบเวลาในการดำเนินงาน ๕ ปีและให้ยุบเลิกเมื่อสิ้นสุดระยะเวลานี้แล้ว โดยให้ สกศ.ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
๒) จัดตั้งหน่วยงานและ/หรือปรับบทบาทหน่วยงานเพื่อเป็นกลไกรับรองคุณภาพมาตรฐานและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยจัดตั้งองค์กรเพื่อรับรองคุณภาพมาตรฐานสถาบันผลิตครู ได้แก่ ๑- สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับชาติ ที่มีการบริหารจัดการอย่างคล่องตัว เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู ประกันและรับรองคุณภาพและมาตรฐานสถาบันผลิตและพัฒนาครู และพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ๒-สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับชาติที่มีการบริหารจัดการอย่างอิสระ คล่องตัว ไม่อยู่ในระบบราชการ ทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ประเมินและให้การรับรองสมรรถนะวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐานโดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓-สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติและกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย แผน ส่งเสริม และประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อสนับสนุนการผลิต การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ๔-ปรับบทบาทสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และให้ดำเนินการจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในทุกพื้นที่ เพื่อเติมเต็มระบบการศึกษาให้รองรับการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
๓) มอบหมายให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ปฏิบัติภารกิจเพิ่มเติมหรือเร่งรัดดำเนินการ ดังนี้ ให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการประกันการเรียนรู้และรับรองมาตรฐานผู้เรียน โดยประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียนสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้นให้เป็นการวัดผลระดับชาติ เพื่อให้สามารถใช้การวัดประเมินผลที่เป็นมาตรฐาน สามารถเทียบเคียงกันได้ เป็นกลไกในการประกันการเรียนรู้และรับรองมาตรฐานผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น และให้ สกศ.ขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา โดยให้มีองค์คณะบุคคลที่มีความรู้ มีความเข้าใจ และประสบการณ์เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ และสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาทางเลือก โดยให้มีองค์คณะบุคคลเพื่อดำเนินการ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักการและแนวทางจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ มีกลไกสนับสนุนที่ต้องพัฒนา/ปรับปรุงคู่ขนานกัน ได้แก่ ระบบการเงินการคลัง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา และการปรับปรุงแก้ไข บังคับใช้กฎหมายการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง รวม ๒ คณะ ให้คณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้เลขาธิการ สกศ.เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ประกอบด้วย รมว.ศธ.เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และให้เลขาธิการ สกศ.เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนด และกำหนดหลักเกณฑ์การประชุมของคณะกรรมการ ให้สำนักงานเลขาธิการ สกศ. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การให้ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างจากส่วนราชการอื่น หรือพนักงานหรือลูกจ้างพนักงานของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐไปช่วยปฏิบัติราชการใน สกศ. ตลอดจนการให้หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคล และคณะบุคคลซึ่งมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงาน ให้การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ระเบียบนี้ยกเลิกเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ๕ ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ไม่มีความคิดเห็น: